Global Review: Advertising ตอน พรีเซ็นเตอร์จากห้วงอวกาศ
By Weerachon Weeraworawit, Published: 10 June 2013
เป็นที่รับรู้มานานว่า การใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นกลยุทธ์หลักอย่างหนึ่งของวงการโฆษณา แต่นอกจากแบรนด์ระดับโลกไม่กี่แบรนด์ที่วางกลยุทธ์กันมาอย่างดี การเลือกใช้พรีเซ็นเตอร์โดยทั่วไปมักเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ ตามแต่ใจเจ้าของสินค้าที่จ้องจะเกาะพรีเซ็นเตอร์ตามกระแส เราจึงแทบไม่เห็นพรีเซ็นเตอร์คนไหนสร้างกระแสใด ๆ ให้กับแบรนด์ แต่ในทางกลับกัน เพราะไม่มีเงินจ้างพรีเซ็นเตอร์ หรือมีเงินแต่ไม่อยากจ้าง ทำให้บางองค์กร สรรหาวิธีที่แตกต่างในการนำเสนอภาพลักษณ์ของแบรนด์ และหนึ่งในกลวิธีที่ได้ผลกลับกลายเป็นการใช้พรีเซ็นเตอร์! ต่างกันตรงที่ เค้าให้คนในองค์กรออกหน้ามาเป็นกระบอกเสียงเสียเอง นอกจากจะประหยัดเงินได้มากโขแล้ว ยังช่วยสร้างการจดจำในแบรนด์ได้ดีกว่าไปจ้างดารา ที่รับเป็นพรีเซ็นเตอร์ไม่รู้กี่จ๊อบต่อกี่จ๊อบ ตัวอย่างในแนวทางนี้ที่เราคุ้นตากันดี ใกล้ ๆ ตัวหน่อย ก็คุณตัน เจ้าของอิชิตัน ซึ่งเล่นหนังโฆษณาเอง โพสท์เฟสบุ๊คเอง ถึงขนาดมีตัวการ์ตูน Icon สไตล์ญี่ปุ่นเป็นรูปตัวเอง
และตัวอย่างล่าสุดในแนวทางนี้ที่สร้างกระแสเป็นที่ฮือฮาระดับโลก คือ Chris Hadfield มนุษย์อวกาศชาวแคนาเดียน อดีตนักบินกองทัพอากาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวะการบิน แถมเก่งกาจในการใช้สื่อ Social Media อย่างน่าทึ่ง Chris ได้รับเกียรติให้เป็นชาวแคนาเดียนคนแรก ที่ได้เป็นหัวหน้าทีมปฏิบัติภารกิจบน International Space Station (ISS) โดยขึ้นไปประจำการบนสถานีอวกาศนานาชาติ ตั้งแต่ 21 ธ.ค.ปีที่แล้ว กระทั่งกลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัยเมื่อ 13 พ.ค.ที่ผ่านมานี่เอง เกือบ 5 เดือนที่ Chris ใช้เวลาอยู่บนห้วงอวกาศ เค้าได้สร้างปรากฎการณ์สื่อที่แปลกใหม่ให้เกิดขึ้นบนพื้นโลก อย่างที่ไม่เคยมีมนุษย์อวกาศคนไหนทำได้มาก่อน
ภารกิจที่ Chris ได้รับนอกเหนือจากการดูแลสถานีอวกาศและค้นคว้าวิจัย เค้ายังมีหน้าที่โปรโมทให้คนในประเทศแคนาดารับรู้ถึงการคงอยู่ของ Canadian Space Agency (CSA) ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัด เป็น Ambassador หรือ Presenter ขององค์กร เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่อยากเรียนรู้และทำงานที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ ซึ่งโดยทางอ้อม จะส่งผลให้รัฐบาลเห็นคุณค่าและอยากจ่ายเงินสนับสนุนองค์กร จากที่ปัจจุบันไล่หั่นงบฯลงทุกปี คงพอจะนึกภาพออกนะครับว่า Chris ต้องร่วมแถลงข่าวระหว่างพื้นโลกกับสถานีอวกาศเป็นระยะ ด้วยภาพจากสัญญาณดาวเทียม รวมถึงทำวิดีโอสาธิตวิธีการใช้ชีวิตบนอวกาศ ตั้งแต่ล้างหน้าแปรงฟัน การกินการนอน ไปจนถึงการร้องไห้อย่างถูกวิธี แต่สิ่งที่ทำให้ Chris กลายเป็นกระแสโด่งดังเกินความคาดคิดของ CSA เป็นเพราะบุคลิกภาพที่เป็นกันเองของเจ้าตัว การอธิบายหลักการวิทยาศาสตร์ยาก ๆ ให้เข้าใจง่าย ความเชี่ยวชาญในการใช้ Social Network และความสามารถในด้านดนตรี โดย Chris ได้แต่งเพลง Jewel in the Night เป็นเพลงแรกที่มนุษย์แต่งบนอวกาศ แถมยังร้องและเล่นลง YouTube ในคืน Christmas Eve ด้วยกีตาร์ Larrivee เป็นการโปรโมทกีตาร์สัญชาติแคนาเดียนไปในตัว
แต่จังหวะแจ้งเกิดที่ทำให้ยอดผู้ติดตาม Chris ใน Twitter ทะยานจากหลักร้อยพุ่งไปเหยียบล้าน เริ่มจากคนดังอย่าง William Shatner ผู้รับบทกัปตันเคิร์กใน Star Trek ฉบับตำนาน ซึ่งเป็นชาวแคนาเดียนเช่นกัน ได้ทวีตข้อความทักทายเค้าเมื่อต้นเดือนม.ค. และ Chris ได้ทวีตกลับมายังโลก ณ บัดเดี๋ยวนั้นด้วยสำนวนน่ารัก ๆ สไตล์หนัง Star Trek แล้วเรียกแขกต่อเนื่องด้วยการโพสท์ภาพถ่ายจากห้วงอวกาศลงใน Twitter, Facebook, Tumblr และ Reddit พร้อมข้อความประกอบขำ ๆ โดยเฉพาะในวันวาเลนไทน์ อีสเตอร์ ไปจนถึงภาพอำกับมนุษย์ต่างดาวในวัน April Fool’s Day ทั้งร่วมแต่งเพลงกับ Ed Robertson แห่งวง Barenaked Ladies ชื่อเพลง Is Somebody Singing? (ISS) มีการถ่ายทอดสดการบันทึกเสียงจากอวกาศออกทีวีเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศ และที่ถือว่าเป็นจุดพีคพร้อมเป็นจุดอำลาภารกิจ คือการปล่อยมิวสิควิดีโอเพลงแรกในอวกาศ Space Oddity จากต้นฉบับของ David Bowie ที่ลอยละล่องถ่ายทำในอวกาศแท้ ๆ ไม่ต้องพึ่งเทคนิคพิเศษด้านภาพแต่อย่างใด แค่ปล่อยลง YouTube หนึ่งอาทิตย์ก็มียอดวิวสูงถึง 15 ล้านวิว เพราะเป็นเอ็มวีที่สวยงามแปลกตาจริง ๆ ที่สำคัญ ยังมากแรงบันดาลใจ ทำให้คนดูรู้สึกว่า อวกาศเป็นเรื่องใกล้ตัว ใครก็ขึ้นไปสัมผัสได้
และเมื่อกลับถึงพื้นโลก กลุ่มเด็ก ๆ ที่ชนะการประกวดภาพถ่ายก็จะได้พบปะพูดคุยกับ Chris ในลักษณะ Meet & Greet ตอกย้ำความสำเร็จในการส่งต่อแรงบันดาลใจจากรุ่นสู่รุ่น เหมือนที่ Chris เคยฝันอยากเป็นมนุษย์อวกาศจากการได้เห็นภาพ Neil Armstrong ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์
Leave a Reply